
ในยุคที่ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านการศึกษาและการทำงาน ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล้วจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของนักเรียนไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพื้นฐานภาษาอังกฤษจากการเรียนในระบบโรงเรียนหรือการเรียนพิเศษที่ต่อเนื่องมาหลายปี ผู้เรียนชาวไทยจำนวนไม่น้อยยังคงพบว่า “การพูด” คือทักษะที่ยากที่สุด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสอบจริง เช่น การสอบ IELTS Speaking ซึ่งการพูดไม่เพียงแต่อาศัยความรู้ แต่ยังต้องอาศัยความมั่นใจ ความคล่องแคล่ว และความสามารถในการคิดและสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการที่เด็กไทยไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษ แต่เกิดจากความไม่ต่อเนื่องของการฝึกฝนในชีวิตจริง การเรียนภาษาแบบเน้นจำมากกว่าสื่อสาร และการขาดความมั่นใจในการพูดโดยไม่มีสคริปต์
บทความนี้จะมาเจาะลึก “5 ปัญหาหลักของเด็กไทย” ที่มักทำให้การสอบ IELTS Speaking ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมแนะนำแนวทางฝึกฝนอย่างเป็นระบบ ที่ไม่ต้องอาศัยพื้นฐานระดับสูง แต่เน้นการพัฒนาที่ตรงจุดและยั่งยืน
1. การคิดเป็นภาษาไทยก่อนพูด
เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในหมู่นักเรียนไทยที่แม้จะมีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีระดับหนึ่งก็ตาม การแปลจากไทยเป็นอังกฤษในขณะพูด ไม่เพียงแต่ทำให้การพูดล่าช้าและขาดความลื่นไหล แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการแปลผิด ใช้คำผิด หรือหลงลืมโครงสร้างประโยคกลางทาง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนโดยตรง โดยเฉพาะในหมวด fluency and coherence ที่ IELTS ให้ความสำคัญ
แนวทางการพัฒนาในข้อนี้จึงควรเน้นการฝึกให้ผู้เรียน “คิดเป็นภาษาอังกฤษ” โดยตรง ผ่านเทคนิค Shadowing การเล่าเรื่องสั้น ๆ ในชีวิตประจำวันเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่แปล และการฝึกตอบคำถามด้วยเวลาจำกัด เพื่อปรับรูปแบบการประมวลผลทางภาษาให้เป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
2. ความไม่มั่นใจในการพูด
เป็นปัญหาเชิงจิตวิทยาที่มีผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมการพูดของผู้เรียนไทยจำนวนมาก แม้จะมีคลังคำศัพท์และความรู้ทางไวยากรณ์เพียงพอ แต่ความไม่กล้าพูดเนื่องจากกลัวความผิดพลาดกลับทำให้ผู้เรียนพูดน้อย ตอบสั้น หรือเงียบไปเลยเมื่อต้องโต้ตอบในสถานการณ์จริง ทั้งนี้ Examiner จะไม่หักคะแนนจากสำเนียงหากผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย อีกทั้งยังเปิดรับสำเนียงหลากหลายรูปแบบจากผู้พูดทั่วโลก
การฝึกพูดอย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจะช่วยคลายความกังวลในการสอบ IELTS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สอบควรเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติว่า ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เป้าหมายหลักของการสอบ แต่คือการสื่อสารอย่างมั่นใจและเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้สามารถฝึกได้ผ่านการพูดกับเพื่อน ครู หรือการอัดวิดีโอเพื่อตรวจสอบและพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
3. การใช้คำศัพท์ซ้ำซากหรือคำศัพท์พื้นฐานเกินไป
ทำให้การใช้ภาษาดูธรรมดา ขาดความน่าสนใจ และไม่สะท้อนระดับภาษาที่แท้จริงของผู้พูด หลายคนติดอยู่กับคำศัพท์ระดับพื้นฐาน เช่น “good”, “nice”, “very”, “a lot” โดยไม่ได้เรียนรู้คำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงแต่ให้ระดับภาษาที่สูงขึ้น การใช้คำแบบนี้ส่งผลให้คะแนนในหมวด lexical resource ต่ำลงทันที เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้สอบไม่สามารถเลือกใช้คำศัพท์ได้หลากหลายหรือเหมาะสมกับบริบท
ผู้สอบสามารถฝึกขยายคลังคำศัพท์ โดยเริ่มจากการจัดหมวดหมู่คำศัพท์ตามหัวข้อที่พบบ่อยในการสอบ เช่น การศึกษา เทคโนโลยี สุขภาพ สิ่งแวดล้อม แล้วเรียนรู้คำพ้อง คำตรงข้าม และการใช้ collocations อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งฝึกนำคำเหล่านี้ไปใช้ในการพูดจริง โดยเริ่มจากประโยคง่าย ๆ แล้วค่อยขยายความเป็นย่อหน้าที่สมบูรณ์
หมวดหมู่ | คำศัพท์ |
---|---|
Education | Curriculum, Educational inequality, Literacy rate, Scholarship, Vocational training |
Technology | Automation, Cybersecurity, Gadget dependency, Innovation, Virtual reality |
Health | Nutrition, Vaccination, Chronic disease, Life expectancy, Obesity |
Environment | Deforestation, Pollution, Urbanization, Green energy, Ecological balance |
4. การตอบคำถามแบบสั้นเกินไป
การตอบคำถามสั้นๆ ขาดการขยายความหรือต่อยอดประเด็น จะส่งผลให้ Examinerไม่สามารถประเมินศักยภาพของผู้เรียนได้เต็มที่ โดยเฉพาะในพาร์ตที่ 2 และ 3 ของการสอบ IELTS Speaking ที่เน้นการพูดอย่างมีเหตุผลและเชื่อมโยงประเด็นอย่างชัดเจน ผู้สอบที่ตอบแบบ “Yes” หรือ “I think so” แล้วจบ ไม่เพียงแต่เสียโอกาสแสดงความสามารถในการใช้ภาษาขั้นสูง แต่ยังทำให้บทสนทนาขาดความลื่นไหลและความน่าสนใจ
แนวทางพัฒนาที่แนะนำคือการใช้โครงสร้างตอบแบบ P-E-E (Point – Example – Explanation) ในทุกคำถาม โดยเริ่มจากการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน เสริมด้วยตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือเหตุการณ์ทั่วไป และปิดท้ายด้วยการอธิบายความเชื่อมโยงหรือผลกระทบจากสิ่งที่กล่าวไว้ เพื่อสร้างความชัดเจนและความลึกในการสื่อสาร
5. การขาดโอกาสในการฝึกพูดภาษาอังกฤษในชีวิตจริง
แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ส่งผลอย่างมากต่อความคล่องแคล่ว และความมั่นใจในการใช้ภาษา ผู้สอบไทยจำนวนมากยังคงเรียนภาษาอังกฤษผ่านตำรา หนังสือ หรือแบบฝึกหัดมากกว่าการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อถึงเวลาต้องพูดแบบไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า หรือพูดในหัวข้อที่ไม่คุ้นเคย จึงเกิดอาการตื่นเต้น ติดขัด หรือพูดไม่ออกได้ง่าย
ควรเริ่มฝึกจากการสร้าง “พื้นที่การใช้ภาษา” ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น การตั้งเป้าหมายพูดภาษาอังกฤษวันละ 10–15 นาทีในหัวข้อที่กำหนดล่วงหน้า การเข้าร่วม speaking club ออนไลน์ หรือการจับคู่ฝึกสนทนากับเพื่อนที่มีเป้าหมายเดียวกัน รวมถึงการฝึกพูดหน้ากระจกและอัดวิดีโอฝึกตอบคำถาม IELTS จำลองเพื่อวิเคราะห์การพูดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
เพราะการสอบ Speaking ที่ดี เริ่มจากการเตรียมตัวที่ถูกทาง

การพัฒนาทักษะ IELTS Speaking ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ หรือพื้นฐานทางภาษาที่ยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยความเข้าใจในจุดอ่อนของตนเอง ความตั้งใจที่จะปรับปรุงอย่างจริงจัง และการฝึกฝนอย่างมีเป้าหมาย เด็กไทยจำนวนมากสามารถยกระดับทักษะการพูดได้อย่างชัดเจน หากมีแนวทางที่เหมาะสมและได้รับการฝึกฝนที่ตอบโจทย์
หากคุณกำลังวางแผนสอบ IELTS และต้องการเตรียมความพร้อมด้าน Speaking อย่างมั่นใจ จองสอบกับ IDP วันนี้ รับสิทธิ์ Speaking Mock Test กับ Native Speaker ฟรี พร้อมรับฟีดแบคตรงจุด เพื่อช่วยพัฒนาเทคนิคการพูด ต่อยอดความมั่นใจ และปรับจุดที่ควรแก้ไขก่อนวันสอบจริง